วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิธีขับรถเกียร์ออโต้

          รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า รถเกียร์ออโต้นั้น เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ขับขี่เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการขับขี่ในเมืองที่ขึ้นชื่อว่า รถติดมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างกรุงเทพมหานครด้วยแล้ว เกียร์ออโต้จะช่วยให้เราไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์ เหยียบคลัตช์ ให้เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเหมือนกับการขับขี่ด้วยเกียร์ธรรมดาเลยล่ะ หลายๆ คนคงสงสัยกันว่า วิธีขับรถเกียร์ออโต้ มันทำอย่างไร? วันนี้เราจะมาเฉลยให้รู้กัน


รูปร่างหน้าตาของเกียร์ออโต้กันก่อน
          ก่อนอื่น เรามาดูหน้าตาของเกียร์ออโต้กันก่อน จากนั้นเราค่อยมาดูกันว่าตำแหน่งต่างๆ ของเกียร์ออโต้ มันใช้ทำอะไร


clip_image002    เกียร์ออโต้ ของ Toyota New Vios

clip_image004    เกียร์ออโต้ ของ Honda City


ตำแหน่งของเกียร์ออโต้

           1. P (Parking) ใช้สำหรับจอดรถ ซึ่งจะล็อคล้อไว้ไม่ให้รถเคลื่อน โดยเราจะเปลี่ยนเกียร์มาที่ P เมื่อรถจอดนิ่งสนิทแล้วและต้องการดับเครื่อง เลิกใช้งาน หรือเมื่อต้องการจอดรถบนทางลาดชัน (ข้อแนะนำ : ควรดึงเบรคมือ เสริมด้วย เพื่อป้องกันเกียร์เสียหาย ถ้าถูกชนท้าย) นอกจากนั้น ก่อนสตาร์ทรถ ตำแหน่งเกียร์ควรจะอยู่ที่ P เช่นเดียวกัน

          2. R (Reverse) คือ เกียร์ถอยหลัง โดยเมื่อเกียร์มาอยู่ที่ตำแหน่ง R นี้แล้ว รถจะถอยหลังไปได้เองอย่างช้าๆ โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งเลย (ข้อแนะนำ: ขณะกำลังถอยหลัง ไม่ควรเหยียบคันเร่ง เพราะจะทำให้รถถอยหลังไปอย่างรวดเร็ว อาจจะชนคนได้ ดังนั้นควรวางเท้าไว้ที่บนแป้นเบรค เพื่อเตรียมพร้อมในการเหยียบเบรค ขณะทำการถอยหลัง)

          3. N (Neutral) คือ เกียร์ว่าง ใช้เมื่อต้องการจอดรถไว้ชั่วคราว เช่น ขณะจอดรถติดไฟแดง และเมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N นี้ รถจะสามารถถูกเข็นไปได้ (เวลาที่เราจอดรถขวางหน้ารถคันอื่นๆ ตามห้าง ควรใส่เกียร์ว่าง และปลดเบรคมือออกด้วย)

          4. D หรือ D4 คือ เกียร์เดินหน้า 4 Speed ใช้ในการขับขี่ปกติ โดยเมื่อเปลี่ยนเกียร์มาที่ D แล้ว รถจะเริ่มออกตัว แล่นไปเองอย่างช้าๆ และเมื่อเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 แล้วไปเกียร์ 3 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 4 ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ (ปกติ ถ้าวิ่งบนทางราบ เราจะใช้เกียร์ D นี้บ่อยสุด)

          5. 3 หรือ D3 คือ เกียร์เดินหน้า 3 Speed ส่วนใหญ่ใช้ในการขับขึ้น-ลงเนินที่ไม่ชันมาก เช่น ขึ้นสะพาน โดยรถจะเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 3 นอกจากนี้เรายังใช้ในกรณีที่ต้องการเร่งแซงรถที่อยู่ข้างหน้าด้วย โดยขณะที่รถวิ่งด้วยตำแหน่งเกียร์ D4 เป็นระยะเวลานาน เมื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์ D3 จะทำให้เครื่องยนต์มีกำลัง ทำให้เครื่องแรงและสามารถแซงไปได้อย่างรวดเร็ว

          6. 2 หรือ D2 คือ เกียร์เดินหน้า 2 Speed ใช้เมื่อต้องการขับรถขึ้น-ลงเนิน หรือเขาที่ค่อนข้างชัน หรือ ขับขึ้น-ลง ตามห้าง โดยรถจะเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 2

          7. L (Low)คือเกียร์ 1 ซึ่งจะใช้ในการขับขึ้น-ลง เขาที่สูงชันมากๆ เมื่อลงเขาด้วยเกียร์ L จะเป็นการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค เพื่อลดการเหยียบเบรค เพราะอาจจะทำให้ผ้าเบรคหมดเร็วได้

ขั้นตอนวิธีการขับรถเกียร์ออโต้

          1. การสตาร์ท ตำแหน่งเกียร์ควรอยู่ที่ P ใช้เท้าขวาเหยียบเบรคไว้ แล้วก็บิดกุญแจสตาร์ท

          2. การขับเดินหน้า ขณะที่เท้ายังคงเหยียบเบรค ให้เลื่อนตำแหน่งเกียร์มาเป็นตำแหน่ง D หรือ D4 จากนั้นค่อยๆ ผ่อนเท้าออกจากเบรค ซึ่งตอนนี้รถจะแล่นไปได้เองอย่างช้าๆ แล้วเราจึงค่อยๆ เหยียบคันเร่งเพื่อให้ได้ตามความเร็วที่เราต้องการ

          3. การขับขึ้นลง ทางลาดชัน ผ่อนความเร็วรถแล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง L แล้วก็เหยียบคันเร่งไปตามความต้องการ

          4. การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ L มาเป็น D ผ่อนความเร็ว แล้วเลื่อน มาที่ตำแหน่ง D แล้วขับไปตามปกติ

          5. การจอดรถ ค่อยๆ ผ่อนความเร็วรถเมื่อรถจอดสนิทก็เลื่อนตำแหน่งมาที่ P ใส่เบรคมือ ดับเครื่อง

          6. การจอดรถในลักษณะกีดขวางคันอื่น หรือการจอดแบบปลดเกียร์ว่าง เมื่อจอดปกติตามข้อ 3 แล้ว แต่ไม่ต้องดึงเบรคมือขึ้นก็กดปุ่มเล็กๆ แล้วเลื่อนตำแหน่งเกียร์ไปที่ N

          7. การจอดกรณีติดไฟแดง เหยียบเบรคค้างไว้แล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง N

          8. การถอยหลัง เหยียบเบรคค้างไว้แล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง R ค่อยๆ ผ่อนเบรคเพราะรถจะถอยได้เอง แต่ถ้าต้องการให้ถอยเร็วหรือกรณีถอยขึ้นที่สูงก็อาจเหยียบคันเร่งแบบค่อยเหยียบ